“หลุมสิว” รอยสิว รอยแผลเป็นจากสิว ปัญหากวนใจหลังจากเป็นสิว ที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ เพราะถึงแม้จะแต่งหน้าก็ไม่สามารถปกปิดร่องรอยของหลุมสิวที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งการรักษาหลุมสิวเป็นปัญหาที่รักษายากและใช้นาน ดังนั้นในบทความนี้ หมอได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดหลุมสิว ประเภทของหลุมสิว มาแนะนำเป็นข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางการป้องกัน และลดโอกาสเกิดหลุมสิวในอนาคต

ภาพตัวอย่างหลุมสิวบนใบหน้า

หลุมสิว คืออะไร?

หลุมสิว (Atrophic Scars) คือ รอยแผลเป็นจากการอักเสบของสิวหลังจากสิวหาย เกิดขึ้นจากสิวอักเสบที่ลงลึกถึงผิวชั้นใน จนแผลไม่สามารถสมานได้เต็มที่ เนื่องจากเกิดพังผืดที่ดึงรั้งทำให้ผิวหนังยุบลงไปตามกระบวนการรักษาแผลของร่างกาย ทำให้เห็นเป็นรอยบุ๋มลงไป ผิวดูไม่เรียบเนียนเสมอกัน และเป็นหลุมลึกบนใบหน้า 

หลุมสิวเกิดจากอะไร?

หลุมสิว คือผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิวที่มีการอักเสบ รวมถึงสิวอุดตัน โดยปกติหลังจากสิวหายแล้วจะมีกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังตามธรรมชาติ โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นประมาณ 7-10 วัน ร่างกายจะมีการสร้างเซลล์ผิวหนังและคอลลาเจนล้อมรอบบริเวณที่มีการอักเสบ ซึ่งถ้ากระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะไม่มีรอยแผลเป็นจากการเกิดสิว 

แต่ถ้าหากกระบวนการซ่อมแซมนี้เกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์จากการอักเสบอย่างรุนแรง หรือได้รับผลกระทบจากภายนอก เช่น บีบ กด แกะสิว จนผิวเกิดการอักเสบ ก็อาจทำให้ผิวยุบลง สร้างคอลลาเจนใหม่ได้ไม่เพียงพอต่อคอลลาเจนที่ถูกทำลายไป เซลล์เนื้อเยื่อเกิดการหดรัดตัว จนส่งผลให้เกิดรอยสิว รอยแผลเป็น และหลุมจากสิวได้

สิวประเภทไหนที่มักจะทำให้เกิดหลุมสิว

  • สิวอักเสบหัวหนอง (Nodule & Cyst) สิวหัวช้าง หรือสิวอักเสบขนาดใหญ่ เป็นตุ่มบวม เป็นไต มีหนองปนเลือดอยู่ภายในหัวสิว ที่เกิดจากการอักเสบในต่อมไขมันใต้ผิวหนัง มีอาการเจ็บ หรือปวดร่วมด้วย การรักษาใช้เวลานานและหายยาก
  • สิวอักเสบ (Pustule) หรือสิวหัวหนองขนาดเล็ก อักเสบเรื้อรัง มีหัวสิวเป็นหนองสีขาว หรือสีเหลือง เกิดจากการรวมตัวของสิวหัวขาว และอาการแดงบริเวณรอบ ๆ หัวสิว

การเป็นสิวสามารถเกิดรอยแผลเป็นได้ถึง 95% ของผู้ที่เป็นสิว แต่รอยแผลเป็นจากสิวที่รุนแรง หรือมีหลุมสิว พบได้ประมาณ 22% ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการอักเสบรุนแรงที่เกิดขึ้นในชั้นหนังแท้ มีการตอบสนองกับเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า P.acnes ทำให้เกิดรอยแผลเป็นหลุมสิวแบบถาวร เพราะมีการทำร้ายผิวโดยทำให้คอลลาเจนและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ถูกทำลายลงด้วย โดยเฉพาะสิวหัวช้าง หรือสิวอักเสบขนาดใหญ่ ที่มักจะทิ้งรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ ลงลึกถึงชั้นผิวหนังชั้นใน ทำให้เกิดเป็นหลุมลึกและพังผืดตามมา 

สิวอักเสบบนใบหน้าอาจก่อให้เกิดหลุมสิว
สิวอักเสบบนใบหน้า อาจก่อให้เกิดหลุมสิว

หลุมสิว มีลักษณะอย่างไร?

มีลักษณะเป็นหลุมเล็ก ๆ บนผิว ทำให้ผิวขรุขระ เป็นรอยบุ๋มลงไป เมื่อเทียบกับผิวหนังข้างเคียง มักจะมองเห็นเป็นหลุมลึกแบบเห็นได้ชัดเจน บางคนอาจจะกระจายทั่วใบหน้า หรือบางคนอาจมีเป็นจุด ๆ เป็นหลุมแผลเป็น ทำให้ใบหน้าโดยรวมดูไม่เรียบเนียน ซึ่งเป็นปัญหาที่รักษายากกว่าการรักษาสิว

หลุมสิวมีกี่ประเภท?

สำหรับประเภทของหลุมสิวที่สามารถเกิดขึ้นได้บนผิวหน้าของเรานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. หลุมแบบจิกลึก (Ice Pick Scars)

หลุมสิวประเภทนี้ มีลักษณะเป็นหลุมปากแคบ เล็ก แต่ลึก มักมีขนาดไม่เกิน 2 มม. ถือเป็นหลุมสิวที่อยู่ในระดับความรุนแรงที่สุดและรักษาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีการทำลายลึกลงไปถึงชั้นผิวหนังแท้ และทำให้คอลลาเจนหายไปด้วย

2. หลุมสิวแบบกล่อง (Boxcar Scar) 

หลุมสิวประเภทนี้ มีลักษณะเป็นหลุมคล้ายกล่อง ขอบชัด ปากหลุมกว้าง ลึกประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีขนาดใหญ่กว่าหลุมสิวประเภท Ice Pick Scar อยู่ในระดับความรุนแรงปานกลาง และมักพบพังผืด (Fibrosis) เกาะติดในชั้นหนังแท้ หลุมสิว Box Scar จึงมีทั้งแบบลึกและตื้น

3. หลุมสิวแอ่งกะทะ (Rolling Scar) 

หลุมสิวประเภทนี้ มีลักษณะเป็นแอ่งเว้าลงไปไม่ลึก ขอบหลุมไม่ชัด มีลักษณะเป็นคลื่น ๆ ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดดึงรั้งชั้นตั้งแต่หนังแท้ถึงเนื้อใต้ผิวหนังลงไป ถือเป็นหลุมสิวแค่ช่วงผิวส่วนบนเพียงเล็กน้อย มีความรุนแรงน้อยสุดเมื่อเทียบกับหลุมสิวอื่น ๆ  

หลุมสิวชนิด Icepick, Rolling และ ฺBoxcar

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิว ควรเริ่มตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เกิดสิว และรับรักษาอย่างถูกวิธีเมื่อเป็นสิว เพื่อลดการอักเสบเรื้อรัง เพราะยิ่งสิวอักเสบเม็ดใหญ่ เป็นนาน ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทิ้งหลุมสิวมากขึ้น ส่วนในเคสที่เกิดเป็นปัญหาหลุมสิวแล้ว แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากหลุมสิวแต่ละประเภทมีระดับความรุนแรงต่างกัน วิธีการรักษาหลุมสิวจึงมีหลายวิธี หรืออาจจะต้องทำร่วมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้น 

การรักษาหลุมสิว

การรักษาหลุมสิวสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยวิธีที่ค่อนข้างนิยมและเป็นที่แพร่หลายจะเป็นการรักษาด้วย Microneedling, การตัดพังผืดหลุมสิว Subcisions, การรักษาด้วยคลื่นวิทยุแบบเข็ม RF Microneedling และการรักษาด้วยการแต้มกรด TCA Peel

การรักษาหลุมสิวด้วยวิธีตัดพังผืด Subcision
การรักษาหลุมสิวด้วยวิธีตัดพังผืด Subcision

ดูแลผิวหลังการรักษาหลุมสิวอย่างไร?

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดและทาครีมกันแดด SPF50+ ทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าจัดหรือใช้สกินแคร์ที่ก่อการระคายเคือง
  • รักษาความชุ่มชื้นของผิวอย่างสม่ำเสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • งดการบีบ แกะ เกาสิว หรือผิวหนังระหว่างฟื้นตัว

เทคนิคป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิวใหม่

  • รักษาสิวตั้งแต่ระยะแรก อย่าปล่อยให้เกิดการอักเสบรุนแรง
  • ไม่บีบหรือกดสิวเอง
  • ปรึกษาแพทย์หากสิวเริ่มมีการอักเสบ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่เหมาะกับสภาพผิว
  • หมั่นทำความสะอาดใบหน้าอย่างอ่อนโยน

สรุป

หลุมสิวแม้จะเป็นปัญหาผิวที่แก้ไขได้ยาก แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน การฟื้นฟูผิวให้กลับมาเรียบเนียนนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การเลือกวิธีรักษาให้เหมาะสมกับประเภทของหลุมสิว และการดูแลผิวหลังการรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นอกจากนี้การป้องกันการเกิดสิวใหม่อย่างสม่ำเสมอก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดหลุมสิวในอนาคต

ขึ้นอยู่กับประเภทของหลุมสิวและเทคนิคในการรักษา โดยทั่วไปต้องทำอย่างน้อย 3-5 ครั้งจึงจะเห็นผลชัดเจน

ควรรอให้ผิวฟื้นตัวอย่างน้อย 1-2 วันก่อนจึงค่อยแต่งหน้า

หลุมสิวสามารถฟื้นฟูให้ดูดีขึ้นได้อย่างมาก แต่การหายแบบเรียบเนียน 100% อาจไม่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและการตอบสนองของแต่ละคน